พิธีเปิดการฝึกผสม กองทัพเรือไทย-กองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน BLUE STRIKE 2016

Release Date : 23-05-2016 00:00:00
พิธีเปิดการฝึกผสม กองทัพเรือไทย-กองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน BLUE STRIKE 2016

 
   
วันนี้ (21 พฤษภาคม 2559) เวลา 10.00 น. พลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และพลเรือตรี Wanghai รองผู้บัญชาการทหารเรือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกผสม กองทัพเรือไทย - กองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน BLUE STRIKE 2016 ณ สนามหน้ากองบัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
 
ความเป็นมาของความร่วมมือด้านการฝึกระหว่างกองทัพเรือไทย และกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน นั้น กองทัพเรือ อนุมัติให้จัดการฝึกในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2548 ได้ทำการฝึกผสม PASSEX (Passing Exercise : การสื่อสารระหว่างเรือที่เข้าร่วมฝึก) เป็นครั้งแรก โดยกองทัพเรือจัดเรือหลวงเจ้าพระยา เข้าร่วมการฝึกฯ กับเรือรบกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย เรือ SHENZHEN (DDG-167) และ เรือ WEISHANHU (AOR-887)
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2550 ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ สาธารณรัฐประชาชนจีน/กรุงเทพฯ เข้าเยี่ยมคารวะเจ้ากรมข่าวทหารเรือ และหารือความเป็นไปได้ที่จะจัดให้มีการฝึกผสมระหว่างหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กับ นาวิกโยธินสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยหัวข้อการฝึกเกี่ยวกับการปฏิบัติการพิเศษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการของกองทัพเรือ หลังจากนั้นได้มีการประชุมทำความตกลงเกี่ยวกับเรื่องแนวทางการฝึก จึงได้บรรลุผลการประชุมหารือว่า เนื่องจากเป็นการฝึกครั้งแรก ทั้งสองฝ่ายยังไม่คุ้นเคยกับยุทธวิธีของกันและกัน จึงควรเริ่มจากการฝึกในระดับหน่วยย่อย ขั้นพื้นฐานไปก่อน โดยทำการฝึกจากขนาดเล็ก แล้วจึงขยายใหญ่ต่อไปในภายหลังและอาจพัฒนาไปเป็นการฝึกผสมทางยุทธวิธีเต็มรูปแบบในอนาคต โดยจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ เริ่มจากกองทัพเรือเป็นเจ้าภาพที่ประเทศไทย และครั้งต่อไป กองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเจ้าภาพที่ สาธารณรัฐประชาชนจีน 
 
จากนั้นในเดือน พฤศจิกายน 2553 จึงมีการฝึกผสมระหว่าง กองทัพเรือและนาวิกโยธินสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นครั้งแรก ภายใต้รหัสการฝึก BLUE STRIKE 2010 หรือ การฝึกผสมกองทัพเรือ - นาวิกโยธินสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำปีงบประมาณ 2554 มีห้วงเวลาการฝึกระหว่าง 15 ตุลาคม - 14 พฤศจิกายน 2553 พื้นที่ฝึกบริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และอ่าวไทยตอนบน มีกำลังเข้าร่วมฝึกจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ประกอบด้วย กองบัญชาการกองการฝึก จำนวน 141 นาย ผู้รับการฝึก จำนวน 150 นาย พร้อมยุทโธปกรณ์ (เรือยาง 20 ลำ) และ หน่วยสนับสนุนการฝึกจากกองเรือยุทธการ ประกอบด้วย เรือระบายพลขนาดใหญ่ จำนวน 2 ลำ เรือปฏิบัติการพิเศษ จำนวน 2 ลำ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ จำนวน 1 ลำ และกำลังพลจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ จำนวน 38 นาย พร้อมยุทโธปกรณ์ (เรือยาง 4 ลำ)
 
การฝึกผสม BLUE STRIKE 2012 นับเป็นการฝึกร่วมระหว่าง กองทัพเรือและนาวิกโยธินสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นครั้งที่ 2 โดยมี นาวาเอกศังกร พงษ์ศิริ เสนาธิการกองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็น ผู้บังคับหน่วยฝึกผสม BLUE STRIKE 2012 (ผบ.นฝ.BLUE STRIKE 2012) กำหนดการฝึกระหว่าง 9-29 พฤษภาคม 2555 รวม 21 วัน พื้นที่ฝึก บริเวณเมืองจ้านเจียง และเมืองซ่านเหวย สาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำลังเข้าร่วมการฝึก จำนวน 129 นาย ส่วนควบคุมการฝึก จำนวน 6 นาย ส่วนรับการฝึก จำนวน 110 นาย และส่วนสนับสนุนการฝึก จำนวน 13 นาย สำหรับยุทโธปกรณ์ที่จะนำไปใช้ในการฝึก ประกอบด้วย อาวุธประจำกาย เครื่องสนาม เชือกและอุปกรณ์ลงทางดิ่ง อุปกรณ์ดำน้ำ ร่มชูชีพ วิทยุสื่อสาร กล้องศูนย์เล็งชี้เป้า และอมภัณฑ์ที่ใช้ในการฝึก โดยมีหัวข้อสำคัญในการฝึกประกอบด้วย การฝึกด้านทักษะขั้นพื้นฐาน การฝึกระดับยุทธวิธี การฝึกในทะเล รวมทั้งการสัมมนาการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ การฝึกรบพิเศษสายการบังคับบัญชา และการจัดหน่วยภายในนาวิกโยธินและกองทัพเรือ
 
สำหรับการฝึกผสมระหว่างกองทัพเรือไทย และกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้รหัสการฝึก BLUE STRIKE 2016 ครั้งที่ 3 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมมิตรภาพ พัฒนาความร่วมมือ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการฝึก ระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งเพิ่มพูนขีดความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันทางยุทธวิธีระหว่างหน่วยเข้าร่วมการฝึก และพัฒนาหลักนิยมในการรบตามสาขาปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังเป็นการยิงทดสอบจรวดนำวิถีป้องกันภัยทางอากาศ QW-1/QW-18 โดยกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน สนับสนุนเป้า มีพิธีการและการฝึกที่สำคัญประกอบด้วย พิธีเปิดการฝึก ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 ณ สนามหน้ากองบัญชาการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และพิธีปิดการฝึก ในวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี 
 
ในการฝึกร่วมครั้งนี้ ได้แบ่งเป็น 2 ห้วงเวลา คือ การฝึกภาคทะเลในห้วง 22 - 27 พฤษภาคม 2559 มีหัวข้อการฝึก ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนทางทฤษฎี การดำรงชีพในป่า การยิงจรวดนำวิถีป้องกันภัยทางอากาศ QW-1/18 การฝึกแลกเปลี่ยนยุทธวิธี (CTX) การโจมตีโฉบฉวยด้วยเรือยาง การปฏิบัติการร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ ยุทธวิธีทหารราบยานเกราะ
 
การฝึกภาคบกในห้วง 29 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2559 มีหัวข้อการฝึก ประกอบด้วย การฝึกแลกเปลี่ยนยุทธวิธี (CTX) การรบในเมือง การรบในระยะประชิด การตรวจจับอาวุธเคมีและการเก็บกู้วัตถุระเบิด การปฐมพยาบาลสนาม การยิงปืนฉับพลันและการยิงประกอบการเคลื่อนที่ การยิงปืนพกและปืนลูกซองทางยุทธวิธี การยิงปืนเล็กยาว ปืนกล และปืนเล็กกล การฝึกดำเนินยุทธระดับหมู่ปืนเล็ก และการฝึกการดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (Combined Arms Live Fire Exercise : CALFEX) และพิธีปิดการฝึกจะจัดขึ้นในวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี 
 
การฝึกร่วมในครั้งนี้ มีกำลังพลเข้าร่วมการฝึกจากฝ่ายไทย จำนวน 500 นาย และฝ่ายจีน จำนวน 270 นาย สำหรับยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของฝ่ายไทยที่จัดเข้าร่วมฝึกประกอบด้วย เรือหลวงอ่างทอง เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ยานเกราะล้อยาง เรือเร็วท้องแข็ง เรือยาง จรวดนำวิถี QW-18 ส่วนยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของฝ่ายจีน ประกอบด้วย เรือยกพลขึ้นบกแบบอู่ลอย เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง เรือเร็วท้องแข็ง เรือยาง รถจู่โจมหุ้มเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก แบบ 05 รถรบทหารราบหุ้มเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก แบบ 05 รถถัง Howitzer ขนาด 122 มม. จรวดนำวิถี QW-1 เป็นต้น Cr.กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ